ใช้ชีวิตอย่างไรที่นั่น น่ากลัวกว่าเมืองไทยหรือเปล่า น่าจะเป็นคำถามที่คนไทยที่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างแดนเป็นกังวลอย่างที่สุด
อนุพงศ์ ชาวอุบลราชธานี ไปอยู่สหรัฐฯ ได้กว่า 30 ปี แล้ว ชีวิตเขากำลังรุ่งโรจน์กับการเป็นหุ้นส่วนร้านอาหารไทย 3 สาขา ส่วนทิพวรรณ ใช้ชีวิตคู่ยามบั้นปลายอยู่ที่เมืองอัลซาโน ลอมบาร์โด ของอิตาลี
ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก มีคนไทยอย่างน้อย 6 คน เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1.6 แสนคน (ข้อมูลถึง 19 เม.ย.)
บีบีซีไทย พูดคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต และแพทย์คนไทย พวกเขาอยู่กันอย่างไรในดินแดนต่างถิ่นเมืองนอนท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด
"พี่จี๊ด" พ่อครัวร้านอาหารไทยในนิวยอร์ก
นิวยอร์ก-สหรัฐอเมริกา
"จู่ ๆ หัวใจเขาก็หยุดเต้นตอนกลางดึก ผมรีบโทรเรียกรถพยาบาลและทำซีพีอาร์ปั๊มหัวใจเขาจนรถพยาบาลมาถึง เจ้าหน้าที่พยายามช่วยแล้วรีบพาเขาไปโรงพยาบาล ไปถึงก็เข้าห้องฉุกเฉินทันทีและช่วยให้หัวใจของเขาทำงานได้อีกครั้ง แต่ว่าเขาหายใจเองไม่ได้แล้ว ที่อยู่ได้ตอนนั้นก็เพราะเครื่องช่วยหายใจ"
นี่คือวาระสุดท้ายในชีวิตของ "พี่จี๊ด" อนุพงศ์ วงศ์ราษฎร์ พ่อครัวและเจ้าของร้านอาหารไทยในนิวยอร์ก ที่โจ ฟาร์ริส สามี เล่า อนุพงศ์ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อนเลย
"คืนนั้นอาการเขาคงที่ โรงพยาบาลพยายามหาห้องเดี่ยวให้เพื่อที่ผมจะอยู่กับเขาได้ แต่ก็ไม่มีห้องว่างเลย คืนนั้นเขาต้องนอนอยู่ที่แผนกฉุกเฉินทั้งคืน ผมอยู่กับเขาตลอดเวลา แต่เขาก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย และเสียชีวิตในวันต่อมา"
อนุพงศ์หอบความฝันของตัวเองไปเป็นกุ๊กในร้านอาหารที่นิวยอร์กตั้งแต่ 30 ปีก่อน จนปัจจุบันเขาเป็นหุ้นส่วนร้านอาหารไทย 3 แห่ง และกำลังจะเปิดร้านที่ 4
ตอนเสียชีวิต อนุพงศ์ มีอายุ 53 ปี เป็นคนไทยคนที่ 2 ในนครนิวยอร์ก ที่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายและโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. เจ็ดวันหลังแพทย์ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่กลับมารักษาตัวอยู่ที่บ้านและดูแลโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและความดันอย่างเคร่งครัด
นครนิวยอร์ก เป็นศูนย์กลางของการระบาดมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในสหรัฐฯ จนถึงวันที่ 18 เม.ย. พบผู้ติดป่วยโควิด-19 แล้ว 236,743 คน เสียชีวิต 13,362 คน ตามการแถลงสถานการณ์รายวันของผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก
"รู้จักพี่จี๊ดมานานแล้ว เป็นเพื่อนผม เป็นคนไข้ผมด้วย" นพ.ปุญญเดช โพธิ์ตั้งธรรม หมอไทยในนิวยอร์ก เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า "พี่จี๊ด" มาตรวจที่คลินิกของเขาตั้งแต่เริ่มพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่นั่น แต่ยังไม่มีการกักกันโรคคนในเมือง
อนุพงศ์ไปพบ นพ.ปุญญเดช ด้วยอาการไข้ ปวดหัว ปวดตามร่างกาย และไอ ผลตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ด้วยอาการเริ่มต้นในขณะนั้นจึงสั่งจ่ายยาจากคลินิกและให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน โดย นพ.ปุญญเดช กำชับให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แยกตัวเองและแยกของใช้หากอาการรุนแรงขึ้นต้องไปโรงพยาบาล
นครนิวยอร์ก เป็นศูนย์กลางของการระบาดมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในสหรัฐฯ จนถึงวันที่ 18 เม.ย. พบผู้ติดป่วยโควิด-19 แล้ว 236,743 คน
จากอาการที่ดูเหมือนไม่รุนแรง มีเพียงอาการไข้และไอ ไม่มีใครคิดว่าอนุพงศ์จะทรุดลงอย่างรวดเร็วภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง
"ได้คุยครั้งสุดท้ายหนึ่งวันก่อน แกบอกแกไอมาก รู้สึกจะไม่ไหว เราบอกว่าถ้าไม่ไหวจริง ๆ ต้องไปโรงพยาบาล" ในคืนเดียวกันนั้นเองที่หัวใจของอนุพงศ์หยุดเต้น จนกระทั่งไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวัดถัดมา
"มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า พูดตรง ๆ ตอนนั้นพี่รู้สึก sick เลย sick จากในหัวใจเลย... คนที่นี่รู้จักพี่จี๊ดกันดีมาก แกมีชื่อเสียงทางร้านอาหาร เป็นคนโอบอ้อมอารี เทคแคร์น้องๆ ช่วยเหลือน้องใหม่ ๆ ที่มาที่นี่ ไม่น่าเชื่อเลยแค่อายุ 53"
แพทย์ทั่วโลกชี้ว่าผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงชีวิตจากโรคโควิด-19 มากขึ้น ขณะที่ นพ.ปุญญเดชให้ข้อมูลว่าในระยะหลังผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ยังปรากฏอาการหัวใจวายเฉียบพลันร่วมด้วย แม้จะไม่เคยมีประวัติว่าป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน
นพ.ปุญญเดช บอกด้วยว่า คนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่คลินิกของเขามีประมาณวันละ 20-30 คน เกือบทั้งหมดมาด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ซึ่งเข้าข่ายว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคนี้คลินิกของเขาตรวจพบผู้ป่วยและยืนยันว่าติดโรคนี้แล้วกว่า 160 คน
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. สถานกงสุลไทย ณ นครนิวยอร์ก รายงานว่า Department of Health รัฐนิวยอร์กกำลังพัฒนาชุดตรวจทดสอบภูมิคุ้มกันเพื่อใช้ในรัฐ คาดว่ หากทำได้สำเร็จ ก็จะสามารถทดสอบประชาชนได้สูงถึง 2,000 คนต่อวัน
เอมเฮิร์สต์ - นิวยอร์ก
คลินิกของ นพ.ปุญญเดช อยู่ในย่านเอมเฮิร์สต์ เขตควีนส์ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่
"ในเอมเฮิร์สต์ คนไทยอยู่เยอะมาก และที่นี่คนติดกันมากมายก่ายกองเพราะนักเรียนหรือคนไทยที่มาทำงานจะอยู่กันแบบ 6 คน ในอะพาร์ตเมนต์ 2-3 ห้องนอน แชร์ห้องกัน" นพ.ปุญญเดช เล่า และอธิบายด้วยว่าค่ารักษาพยาบาลในนครนิวยอร์กสูงมาก คนที่มีทุนทรัพย์จะซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว หรือซื้อประกันประเภทที่รัฐช่วยจ่าย
ส่วนการตรวจหาโรคโควิด-19 ตามสถานพยาบาลฉุกเฉินของเอกชนมีค่าใช้จ่ายราว 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,500 บาท) ซึ่งสูงกว่าคลินิกทั่วไปที่เขาทำงานอยู่
"คนที่มาหาพี่ที่คลินิก บางทีเป็นกลุ่มคนทำงานร้านอาหาร บางคนเป็นนักเรียน เขาต้องใช้ค่าใช้จ่ายยังไงพี่ก็รู้ ถ้าไม่มีประกันสุขภาพจะลำบากแค่ไหน"
อุบลราชธานี - ประเทศไทย
"เร็วเกินไป เขาเพิ่งกลับไปแค่เดือนกว่าเท่านั้นเอง" คำบอกเล่าของ อภิญญา วงศ์ราษฎร์ ญาติของ "พี่จี๊ด" ที่ จ.อุบลราชธานี กับบีบีซีไทย
อนุพงศ์ เพิ่งจะกลับมาเยี่ยมญาติที่เมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้วและกลับไปนิวยอร์กเมื่อต้นเดือน ก.พ. ช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคนี้ เขาพูดคุยกับหลาน ๆ ทางไลน์แทบทุกวันว่าตัวเองมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะต้องออกนอกบ้านทุกวัน ไปร้าน ไปซื้อของ แต่ก็ป้องกันตัว แยกห้อง แยกของใช้กับเพื่อน
อนุพงศ์หอบความฝันของตัวเองไปเป็นกุ๊กในร้านอาหารที่นิวยอร์กตั้งแต่ 30 ปีก่อน จนปัจจุบันเขาเป็นหุ้นส่วนร้านอาหารไทย 3 แห่ง และกำลังจะเปิดร้านที่ 4
การกลับมาเยี่ยมญาติ ๆ ที่เมืองไทยครั้งล่าสุดของอนุพงศ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
"ช่วงแรกไปก็ไม่ได้ติดต่อกัน ไม่รู้ว่าเค้าไปอยู่ยังไงกินยังไง เพิ่งมาเจอกัน 4 ปีหลัง เขามาปีแรกเราก็ดีใจว่าน้องมา ปีที่สอง ปีที่สามเขาก็มา ปีที่สี่เขาได้มาปีสุดท้าย"
วันนี้ ญาติๆ ยังรอคอยเถ้ากระดูกของอนุพงศ์กลับคืนสู่บ้านเกิด หลังจากเพื่อนสนิทของเขาจัดการพิธีฌาปนกิจให้ที่สหรัฐฯ
"ดูข่าวทุกวัน ๆ สถานการณ์ที่โน่นดูหนัก... แต่ถ้าอยู่บ้านเราคงไม่เป็นไรมั้งพี่ว่า" อภิญญา บอกด้วยน้ำเสียงไม่แน่ใจ เพราะความห่างไกลทำให้ไม่รู้ความเป็นไปอย่างละเอียดของน้องชาย และไม่รู้ว่าการรักษาพยาบาลของประเทศในอีกซีกโลกเป็นอย่างไรกันแน่
"มองดูเพื่อนที่ต่างประเทศทุกคนทุกประเทศเลย บอกว่าถ้าไม่ใช่คนของเค้า เค้าจะไม่ดูแล ใช่หรือเปล่าตรงนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกัน"
"ทิพวรรณ" คนไทยวัย 80 ปี ที่อิตาลี
ที่อิตาลี วรนุช วัฒนาธร ยังทำใจไม่ได้ที่จู่ๆ คุณอาของเธอ ทิพวรรณ วัฒนาธร ต้องเสียชีวิตลง น้องสาวของคุณพ่อมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ แม้จะอยู่ที่อิตาลีมาถึง 20 ปี แต่ในช่วงฤดูหนาวคุณอามักป่วยเป็นไข้หวัด
หากยังไม่เสียชีวิตคุณทิพวรรณ ก็จะมีอายุครบ 80 ปี ในเดือน ส.ค.ปีนี้
"ตอนที่ไวรัสระบาดใหม่ ๆ เราบอกคุณอาว่าอย่าออกไปข้างนอก ให้อยู่บ้านเซฟตัวเอง แกก็จะอยู่แต่ในบ้านมาตั้งแต่เดือน ก.พ. แต่มาวันหนึ่งแกก็มีอาการท้องเสีย เรายังคิดว่าเป็นเพราะแกทานอาหารที่นำมาอุ่นซ้ำรึเปล่า" วรนุชย้อนเล่าอาการเริ่มแรกของคุณอา
วรนุชได้ข้อมูลจากสามีชาวอิตาลีของคุณอาทิพวรรณว่า ทานยาแก้ท้องเสียแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นกลับปวดศีรษะ จากนั้นก็ทานอะไรไม่ได้เป็นเวลา 3 วัน สามีของทิพวรรณ คิดว่าเธอควรได้ไปพบหมอ
ภาพถ่ายของทิพวรรณ หลายสิบปีก่อน ที่ญาติ ๆ ทางเมืองไทยเก็บไว้
บ้านพักของคุณอาและสามีวัย 80 ปี อยู่ในเมืองอัลซาโน ลอมบาร์โด เขตพื้นที่สีแดงที่มีอาการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนวรนุช ซึ่งอยู่ในเมืองแบร์กาโม เธอเป็นคนติดต่อเรียกรถพยาบาลให้รับตัวคุณอาไปโรงพยาบาล
แม้บ้านจะอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลในเมืองซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ณ ขณะนั้นเกือบ 80 ศพ แต่รถพยาบาลได้นำตัวทิพวรรณไปรักษาที่เมืองอื่น
วรนุชเล่าว่าในตอนแรกแพทย์ตรวจไม่พบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และให้น้ำเกลือแร่รักษาอาการท้องเสีย แต่หลังจากนั้นคุณอาถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองมิลานเพื่อรักษาอาการเฉพาะทาง
"คุยโทรศัพท์กับคุณอาแกยังบอกว่ากินอาหารได้ หมอดูแลเป็นอย่างดี ได้ห้องนอนเดี่ยว อยู่สบาย แต่แกกลัวผีเพราะต้องอยู่คนเดียว" แต่สามวันหลังจากนั้นหมอที่โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองมิลานโทรศัพท์มาแจ้งอาการอีกครั้ง
"หมอบอกว่าคุณอาอาการทรุด ความดันต่ำ หายใจเองไม่ได้ พอตกบ่ายก็เสียชีวิต เราไม่เชื่อตัวเองเลย เพราะเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนา แกยังบอกว่ากินได้"
ทิพวรรณเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มี.ค. หลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่าสิบวัน
วรนุชบอกบีบีซีไทยว่าหมอจากโรงพยาบาลในเมืองมิลาน แจ้งกับสามีของคุณอาเธอว่า ทิพวรรณอาจติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ขณะนี้เธอยังไม่ได้รับเอกสารยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการ
"มีเพื่อนบอกว่าให้ระวังเพราะที่อิตาลีมีกรณีโรงพยาบาลไม่รักษาคนแก่ แต่เราไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะอาบอกว่าหมอดูแลอย่างดี เรานึกถึงเหตุและผลที่เขาส่งตัวอาไปรักษาที่โรงพยาบาลแรก หากเป็นไวรัสเขาคงไม่ส่งไปที่อื่น"
แม้ร่างของทิพวรรณยังไม่คืนกลับสู่ประเทศไทย แต่ญาติ ๆ ได้จัดพิธีสวดบำเพ็ญกุศลให้ที่วัดในไทย
ได้รู้ซึ้งน้ำใจคนไทย
วรนุชยังรู้สึกช็อกกับการจากไปอย่างกะทันหันของคุณอาที่อาศัยอยู่ในต่างแดนด้วยกันมาเป็นเวลานาน แม้จะอยู่ต่างเมือง แต่ก็ยังติดต่อพูดคุยกันโดยตลอด
วรนุชในวัย 60 ปี ไม่ค่อยสุงสิงกับคนไทยในอิตาลีมากนักเพราะมีภารกิจที่ทำให้ต้องเดินทางระหว่างไทยและอิตาลีเป็นประจำ แต่เมื่อคุณอาเสียชีวิต เธอกลับได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมคนไทยในอิตาลี ที่ร่วมรณรงค์หาเงินบริจาคช่วยค่าจัดการศพของคุณอาที่มีค่าใช้จ่ายถึงเกือบ 2,000 ยูโร
"พี่ไม่เคยรู้เลยว่ามีสมาคมคนไทยในอิตาลี เขายื่นมือเข้ามาช่วย มาให้กำลังใจเรา น้ำใจคนไทยหลั่งไหลมาทุกสาย บริจาคเงินให้เรามากกว่าที่เราขอความช่วยเหลือไป"
ขณะนี้ศพของคุณทิพวรรณยังไม่ได้รับการฌาปณกิจ เพราะต้องรอการดำเนินการของทางการอิตาลี แต่ที่เมืองไทยครอบครัววัฒนาธร เจ้าของกิจการขันลงหินในย่านบางกอกน้อยได้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระเพล และเชิญพระ 4 รูป มาสวดต่อหน้าภาพถ่ายของคุณทิพวรรณ หลานชายตัวเล็ก ๆ ยังร่วมบวชหน้าไฟให้
"เราทำได้แค่นี้ ตอนนี้ตัวเองรู้สึกกลัวกับโรคนี้มาก ไม่อยากออกจากบ้านเลย"
การตัดสินใจอันยากลำบากของแพทย์อิตาลี
ในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา วิกฤตไวรัสโคโรนาในอิตาลีอยู่ในสถานะเลวร้ายที่สุดรองแค่จากจีน ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีที่เพิ่มขึ้นวันละหลายร้อยคน แพทย์บางคนบอกว่าพวกเขาต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากว่าจะรักษาคนไข้คนไหนและปล่อยให้คนไหนเสียชีวิตไป เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงที่โลกไร้สงคราม
"ถ้าคนไข้อายุระหว่าง 80-95 ปี และมีอาการหายใจลำบาก มีแนวโน้มว่าแพทย์จะไม่รักษาต่อ" ดร.คริสเตียน ซาลาโรลิ หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉินที่โรงพยาบาลในเมืองแบร์กาโมของอิตาลี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กอร์เรียเร เดลลา เซรา (Corriere della Sera)
สมาคมวิสัญญีวิทยาการระงับปวด การกู้ ชีพและการดูแลผู้ป่วยวิกฤตแห่งประเทศอิตาลี ตีพิมพ์คำแนะนำให้แพทย์ให้ความสำคัญกับคนไข้ที่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้มากกว่า "เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับให้แพทย์มุ่งความสนใจให้การรักษาที่เหมาะสมกับคนที่จะได้รับประโยชน์ที่สุด"
สหราชอาณาจักร
คนไทยบางส่วนไม่วางใจระบบรักษาพยาบาล
คนไทยที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรจำนวนหนึ่งเดินทางกลับประเทศก่อนที่ทางการจะสั่งห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศเดินทางเข้าไทย สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการความมั่นใจว่าหากติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในเวลาเดียวกันก็มีรายงานทางสื่อไทยในท้องถิ่นถึงการเสียชีวิตของคนไทย 4-5 คน ในสหราชอาณาจักร
ย่านไชน่าทาวน์ในกรุงลอนดอนในบรรยากาศของการล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือน มี.ค.
ในสหราชอาณาจักรกำหนดให้ผู้ที่คิดว่ามีอาการเข้าข่ายจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 ไม่เดินทางไปยังร้านขายยา คลินิกแพทย์ประจำบ้าน หรือโรงพยาบาล แต่ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหมายเลขสายด่วน 111 หรือติดต่อผ่านระบบออนไลน์ที่จะต้องกรอกรายละเอียดอาการและอื่น ๆ ก่อนจะได้รับคำแนะนำว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ประสบการณ์แพทย์ไทยที่ทำงานด่านหน้า
แพทย์หญิงศศธร ชุติมาวรพันธ์ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency medicine หรือ EM) ที่โรงพยาบาล University Hospitals Coventry & Warwickshire ในภูมิภาคเวสต์มิดแลนด์ส ซึ่งอยู่ทางภาคกลางฝั่งตะวันตกของอังกฤษ "หมอฟ้า" ต้องพบผู้ป่วยทุกโรคที่เดินทางมายังโรงพยาบาล
"เพราะตอนนี้โรงพยาบาลเราเปิดทางเข้าออกเพียงทางเดียวคือทางแผนกฉุกเฉิน ใครป่วยด้วยโรคโรควิด-19 หรือไม่ ก็ต้องผ่านทางนี้หมด ดังนั้นพูดตามตรงคือเราเป็นด่านหน้า"
พญ.ศศธร ทำงานในอังกฤษมาร่วม 19 ปีแล้ว (ภาพที่บีบีซีได้รับเมื่อปี 2561)
ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พญ.ศศธร จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยดูว่ารายใดสมควรรับตัวไว้รักษาต่อหรือไม่โดยรายใดที่ไม่มีอาการของโรคโควิด-19 ก็จะส่งตัวต่อไปยังแผนกเฉพาะทาง แต่หากมีอาการโรคโควิด-19 ก็จะแยกตัวไปตามความหนักเบาของอาการ
"ระบบอังกฤษนั้น ถ้ามีอาการแต่ไม่แย่มากก็จะให้กินพาราเซตามอล ดื่มน้ำเยอะ ๆ ถ้าหลัง 7-10 วันแล้ว หากจะหายจากโรคก็จะหาย แต่ถ้าอาการแย่ลงจะต้องโทรหาจีพี (แพทย์ประจำบ้าน) หรือ 111 เพื่อประเมินอาการก่อน"
พญ.ศศธร ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของระบบโรงพยาบาลอังกฤษและไทยว่าโรงพยาบาลเอกชนในอังกฤษไม่รับรักษาคนไข้ฉุกเฉินและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้นภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับโรงพยาบาลรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องขอให้ประชาชนกักตัวเอง ซึ่งจะลดจำนวนผู้ป่วยได้ ไม่เช่นนั้นระบบสาธารณสุขทั้งระบบจะรับไม่ไหว
เมื่อถามถึงครอบครัวทางบ้าน หมอฟ้าเล่าว่า "คุณพ่ออ่านข่าวเป็นห่วงตลอด ก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง เราสวมใส่เครื่องป้องกัน ที่มีเพียงพอ"
แพทย์ต้องตัดสินใจเลือกรักษาผู้มีโอกาสรอดชีวิต
สมาคมการแพทย์อังกฤษ (British Medical Association - BMA) ออกคำแนะนำด้านจรรยาบรรณสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานแถวหน้า โดยเตือนว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้แพทย์ต้องตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายบ่อยขึ้น และบางครั้งอาจต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขีดความสามารถที่จะรับได้ มากกว่าแค่เรื่องความจำเป็นของคนไข้
ดร.จอห์น คิสโฮล์ม ประธานคณะกรรมการด้านจริยธรรมของ BMA กล่าวว่า หากสถานการณ์รุนแรงจนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล "คนไข้ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะได้รับการรักษาอย่างเข้มข้น ก็อาจจะได้รับแค่การบรรเทาอาการ เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ที่มีโอกาสจะรอดชีวิตได้มากกว่า ไม่มีใครอยากตัดสินใจแบบนี้ แต่หากมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ก็จะต้องมีการตัดสินใจที่น่าปวดใจเช่นนี้"
ที่มา : BBC
BY : ขนุน
สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/